โลกปัจจุบันเรามีความต้องการข้อมูลสารสนเทศที่ครบถ้วน ถูกต้อง และรวดเร็วแทบจะทุกวงการ และในเรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สายการบิน โรงแรม ร้านค้าต่าง ๆ ต่างก็ต้องการเครื่องอ่านหนังสือเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลของนักเดินทาง และการให้บริการ
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้กำหนดวิธีในการอ่านหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตไว้ 2 วิธี
- กำหนดให้มีการพิมพ์ตัวอักษรรูปแบบพิเศษที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถ “อ่าน” ได้โดยง่ายไว้ในพื้นที่เฉพาะ เรียก ว่า Machine-Readable Zone (MRZ) เครื่องอ่านจะใช้เทคโนโลยี OCR ในการอ่านตัวอักษรเหล่านี้
- ใช้คลื่นวิทยุอ่านข้อมูลจากชิป ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ RFID หรือ NFC วิธีการนี้มีข้อดีคือสามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้น และปลอมแปลงได้ยากขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่า e-Passport
ICAO ได้กำหนดการอ่าน e-Passport ให้ใช้การอ่าน 2 วิธีข้างต้นร่วมกัน คือต้องอ่าน MRZ ก่อน เพื่อดึง “รหัสผ่าน” มาใช้ร่วมในขั้นตอนที่สอง คือการอ่านชิป RFID โดยหากรหัสผ่านผิดก็จะไม่สามารถขออ่านข้อมูลจากชิปได้ และหากผิดหลาย ๆ ครั้ง หนังสือเดินทางอาจจะล็อกชิปหรือทำลายชิปนั้นด้วยก็ได้
ก่อนไปดูประเภทของเครื่องอ่านฯ เรามาทำความเข้าใจองค์ประกอบของข้อมูลที่ปรากฎบนหน้าพาสปอร์ตกัน
MRZ และ VIZ
MRZ ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและเพียงพอต่อการจัดเก็บข้อมูลอยู่แล้ว เช่น ชื่อ-นามสกุล, สัญชาติ, วันเดือนปีเกิด, ประเภทพาสปอร์ต, เลขบัตรประชาชน (ถ้ามี), เพศ และวันหมดอายุ
VIZ หรือ Visual Inspection Zone เป็นข้อมูลที่ปรากฏเหนือ MRZ ซึ่งจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่า MRZ นั่นคือ ภาพหน้าพาสปอร์ต, รูปถ่ายเจ้าของพาสปอร์ต, วันที่ออกหนังสือเดินทาง, หน่วยงานที่ออกเอกสาร และลายเซ็นเจ้าของพาสปอร์ต
การอ่านหน้าพาสปอร์ตแบบเต็มหน้า คือการอ่านข้อมูลส่วนของ MRZ และถ่ายภาพหน้าพาสปอร์ตทั้งหน้า ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง MRZ และ VIZ ไว้ด้วย ส่วนการอ่านแบบครึ่งหน้าและแบบรูด จะอ่านและจัดเก็บข้อมูลได้เฉพาะ MRZ เท่านั้น ไม่มีการถ่ายภาพหน้าพาสปอร์ตไว้
3 ประเภทของเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง
(AR Osmond)
(Elyctis ID Box One)
(Swipe Reader)
ประเภทที่ 1 : เครื่องอ่านพาสปอร์ต แบบเต็มหน้า (Full Page Reader)
จะเป็นเครื่องอ่านที่สามารถถ่ายภาพแบบเต็มหน้าของหนังสือเดินทางได้ และสามารถอ่านข้อมูล MRZ และชิป RFID ได้ในขั้นตอนเดียว เช่น เครื่องอ่านรุ่น Osmond ของ AR และเครื่องอ่านรุ่น MEPR100+ ของ MTTEK
ข้อดี
- สามารถเก็บภาพถ่ายของหนังสือเดินทางเป็นหลักฐานได้
- อ่านข้อมูล MRZ และชิป RFID ได้ในขั้นตอนเดียว อ่านได้เร็ว และใช้งานสะดวก
ข้อเสีย
- มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ไม่เหมาะกับการใช้งานแบบเคลื่อนที่หรือมีพื้นที่จำกัด
- ราคาสูงกว่าเครื่องอ่านแบบอื่น
- ต้องใช้แหล่งจ่ายไฟหรือ Adapter ภายนอก และต้องเสียบสายจ่ายไฟเพิ่ม ทำให้เกะกะ
- รองรับการใช้งานบน Windows เท่านั้น
- ความสามารถบางอย่าง เกินความต้องการในการใช้งานทั่วไป ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จ่ายแพง
เหมาะสำหรับ งานที่ต้องการเก็บหน้าหนังสือเดินทางแบบเต็มหน้า และตรวจสอบหนังสือเดินทางปลอม
ประเภทที่ 2 : เครื่องอ่านพาสปอร์ต แบบครึ่งหน้าหรือไม่เต็มหน้า (Half Page Reader)
จะเป็นเครื่องอ่านที่อ่านข้อมูล MRZ ด้วยกล้องเฉพาะจากพื้นที่ด้านล่างของหน้าหนังสือเดินทางเท่านั้น ไม่ได้มีการถ่ายภาพไว้ทั้งหน้าเหมือนเครื่องรุ่นใหญ่ แต่ยังคงสามารถอ่านข้อมูล MRZ และชิป RFID ได้ในขั้นตอนเดียวเหมือนกัน ทำให้อ่านได้เร็วและใช้งานสะดวก ไม่ต่างจากเครื่องแบบเต็มหน้า ตัวอย่างเช่น เครื่องอ่าน ID Box One ของ Elyctis
ข้อดี
- ตรวจสอบพาสปอร์ตปลอมได้ด้วยฟังก์ชั่น RFID
- ขนาดเล็ก ไม่เปลืองพื้นที่
- น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ ใช้งานกับโทรศัพท์มือถือได้
- ใช้ได้ทั้ง Windows และ Android
- อ่านข้อมูล MRZ และชิป RFID ได้ในขั้นตอนเดียว จึงใช้งานสะดวก อ่านได้เร็ว
ข้อเสีย
- ไม่สามารถถ่ายภาพเต็มหน้าของหนังสือเดินทางได้
เหมาะสำหรับ งานการอ่านข้อมูลหนังสือเดินทางทุกรูปแบบ และงานที่ต้องการความรวดเร็วในการอ่าน
ประเภทที่ 3 : เครื่องอ่านพาสปอร์ต แบบรูด (Swipe Reader)
เป็นเครื่องอ่านที่อ่านข้อมูล MRZ โดยการรูดหนังสือเดินทางกับเครื่องอ่าน (คล้ายกับการรูดบัตรแม่เหล็ก) ในการอ่านหนึ่งครั้ง จะต้องทำสองขั้นตอน คือรูดหนังสือเดินทางเพื่ออ่าน MRZ แล้วนำเอาหนังสือเดินทางมาวางแตะกับเครื่องอ่านเพื่ออ่านชิป RFID อีกที ทำให้ใช้งานไม่ค่อยสะดวกนัก
ข้อดี
- ขนาดเล็ก ไม่เปลืองพื้นที่
ข้อเสีย
- ตอนรูดอาจทำให้หนังสือเดินทางชำรุดเสียหายได้ และใช้งานไม่ค่อยสะดวก
- การอ่านมีสองขั้นตอน ทำให้อ่านได้ช้า และอาจผิดพลาดได้
- ไม่สามารถถ่ายภาพเต็มหน้าของหนังสือเดินทางได้
- ไม่สามารถถ่ายภาพด้วยคลื่น UV และ IR ได้
เหมาะสำหรับ งานที่ไม่ค่อยสำคัญ หรืองานที่ไม่เร่งรีบได้
ตารางเปรียบเทียบเครื่องอ่านหนังสือเดินทางแบบต่าง ๆ
เครื่องอ่านหนังสือเดินทาง | เครื่องอ่านแบบเต็มหน้า | เครื่องอ่านแบบครึ่งหน้า | เครื่องอ่านแบบรูด |
อ่าน MRZ ด้วยแสง | ✓ | ✓ | ✓ |
มีรุ่นที่อ่านชิปด้วยคลื่นวิทยุได้ | ✓ | ✓ | ✓ |
มีรุ่นที่อ่านบัตรประชาชนได้ | ✓ | ✓ | ✓ |
บันทึกภาพเอกสารเต็มหน้า | ✓ | ✗ | ✗ |
บันทึกภาพด้วย UV และ IR | ✓ | ✗ | ✗ |
อ่าน MRZ และ RFID ในจังหวะเดียว | ✓ | ✓ | ✗ |
ทำงานแบบตั้งโต๊ะ | ✓ | ✓ | ✓ |
ใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ | ✗ | ✓ | ✓ |
ความรวดเร็วในการอ่าน | เร็ว | เร็ว | ช้า |
ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา | ✗ | ✓ | ✓ |
ไม่ต้องใช้แหล่งจ่ายไฟภายนอก | ✗ | ✓ | ✓ |
ราคา | ราคาสูง | ราคาประหยัด | ราคาประหยัด |
บทสรุป
เครื่องอ่านหนังสือเดินทางโดยพื้นฐานแล้วจะมีราคาสูง การเลือกซื้อควรคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบที่จ่ายไปกับประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น ถ้าต้องการข้อมูลพื้นฐานเพื่อการออกใบกำกับภาษี หรือเพื่อแสดงตนในการเข้าใช้บริการต่างๆ เครื่องอ่านแบบครึ่งหน้าก็มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว หรือถ้าต้องการตรวจพาสปอร์ตปลอม ด้วยฟังก์ชัน UV กับ RFID ในเครื่องอ่านแบบเต็มหน้า หรือฟังก์ชัน RFID ในเครื่องอ่านแบบครึ่งหน้าก็สามารถตรวจพาสปอร์ตปลอมได้แล้ว ในกรณีที่เป็นงานสำคัญยิ่งยวด จำเป็นต้องเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนทุกมิติ ก็อาจต้องใช้เครื่องอ่านแบบเต็มหน้าที่มีฟังก์ชัน RFID
ทั้งนี้เครื่องอ่านหนังสือเดินทางที่มีสเปคสูงราคาก็จะสูงตามไปด้วย และยิ่งถ้าต้องใช้ฟังก์ชันในการเก็บข้อมูลเยอะการทำงานของเครื่องก็จะช้าลงไปด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาโดยรวมๆแล้ว เครื่องอ่าน ในตระกูล ID Box One ของ Elyctis นับได้ว่าเป็นเครื่องอ่านที่เหมาะสมในการใช้งานมาก สามารถอ่านข้อมูลได้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย ทำงานเร็ว และใช้งานง่าย รวมทั้งมีราคาประหยัดอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีรุ่นที่สามารถอ่านบัตรประชาชนร่วมด้วยได้เช่นกัน